ไรฝุ่น …วายร้ายตัวจิ๋ว

ทุกครั้งที่เอนตัวลงบนที่นอนอันแสนสบาย คุณจะรู้หรือไม่ว่าภายใต้ที่นอนอันหนานุ่มนั้นอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอย่าง “  ไรฝุ่น ” นับล้านตัวต้นเหตุสำคัญของการก่อโรคภูมิแพ้ โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยภูมิแพ้จากไรฝุ่นแล้วกว่า 10 ล้านคน

โรคภูมิแพ้เป็นอย่างไร

 

โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจาก “ปฏิกิริยาภูมิไวเกิน” ต่อสารก่อภูมิแพ้ เป็นภาวะร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองไวกว่าปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) จากสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อราในอากาศอาหาร ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ปกติสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้จะไม่มีอันตรายสำหรับคนปกติแต่ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ ปฏิกิริยานี้จะเริ่มขึ้นเมื่อเราได้รับสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายจะสร้างภูมิที่เรียกว่าIgE antibody ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ทำงานผิดปกติและมีการหลั่งสารที่ชื่อว่าฮิสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบในร่างกาย เราสามารถแบ่งอาการแพ้ตามการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆโดยอาการที่พบบ่อย เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้โรคหอบหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงปฏิกิริยาแพ้รุนแรงที่เกิดจากการแพ้ยา แมลงกัดต่อยและแพ้อาหารบางชนิด อาการของโรคภูมิแพ้มีตั้งแต่ ไอ จาม หอบหืด หลอดลมอุดตัน และในบางรายอาจรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต

สาเหตุของโรคภูมิแพ้

ต้นตอของการเกิดโรคภูมิแพ้ เชื่อว่ามีปัจจัยมาจาก พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยปกติถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 25 % แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 66 % โดยเฉพาะโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีอัตราการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สูงที่สุดส่วนตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ ซึ่งผลการสำรวจในประเทศไทยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ติดอันดับหนึ่งคือ ไรฝุ่นรองลงมาคือภูมิแพ้จากแมลงสาบ ขนสัตว์รวมถึงละอองเกสรและดอกหญ้า

ไรฝุ่น

วายร้าย…ไรฝุ่น

ไรฝุ่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในพวก Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมงเพราะมีขา 4 คู่ รูปร่างกลมรี แต่ขนาดเล็กกว่ามากประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร เรียกได้ว่าแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลำตัวมีสีขาวคล้ายฝุ่น ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส และอยู่ในที่ที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง เราจึงมักพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรมหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยเส้นใย

วงจรชีวิตของไรฝุ่น
ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินเศษขี้ไคล สะเก็ดรังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหารโดยเศษผิวหนังเพียง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่น 1 ล้านตัวนานถึง 1 สัปดาห์ โดยวงจรชีวิตของไรฝุ่น เริ่มจากภายหลังตัวเต็มวัยมีการผสมพันธุ์ ไรฝุ่นตัวเมียจะเริ่มวางไข่ ซึ่งวางไข่ได้ครั้งละ1 ฟอง เฉลี่ย วันละ 3-4ครั้ง จากนั้น 8-12 วันไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนและพัฒนาเข้าสู่ระยะวัยรุ่นโดยเริ่มแรกจะมีขาเพียง 6 ขา ต่อมาค่อยๆ ลอกคราบหลาครั้งจนเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยจะมีขาครบทั้ง 8ขา ซึ่งระยะเวลาในการเจริญเติบโตจากไข่ถึงขนาดตัวเต็มวัยจะใช้เวลาทั้งหมด 30 วัน และตัวเต็มวัยของไรฝุ่นจะมีอายุไขเพียง 1-2 เดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วยทั้งนี้ไรฝุ่นนั้นถือเป็นตัวการสำคัญในการผลิตสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในผู้ป่วย โดยสารก่อภูมิแพ้นี้จะอยู่ในมูลของไรฝุ่นนั่นเอง โดยในเวลานอนคนเรามักจะมีการพลิกตัวอยู่บ่อยครั้ง และการพลิกตัวแต่ละครั้ง จะทำให้ซากไรฝุ่นและสะเก็ดมูลเกิดการฟุ้งกระจายขึ้นสู่อากาศ ผู้ที่นอนอยู่ก็จะสูดเอามูลที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ของมันเข้าไปจึงทำให้เกิดอาการต่างๆ

ที่นอนของวายร้าย

แหล่งที่อยู่อาศัยสุดโปรดของไรฝุ่น คงหนีไม่พ้นที่นอน หมอน และ ผ้าห่มที่เราต้องใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน แล้วรู้หรือไม่ว่าที่นอนแบบใดที่ไรฝุ่นชอบอยู่อาศัยมากที่สุดผลการศึกษาของเรื่องความหลากหลายและชีววิทยาของไรฝุ่นในจังหวัดกาญจนบุรี ของดร.อำมร อินทร์สังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษาโดยที่นอนที่ทำจากนุ่นพบไรฝุ่นมากที่สุด คือ ฝุ่น 1 กรัม พบไรฝุ่นเฉลี่ย 63 ตัว อันดับต่อมาคือ ที่นอนฟองน้ำใยสังเคราะห์ พบไรฝุ่นเฉลี่ย 34 ตัว และที่นอนใยมะพร้าวพบไรฝุ่นเฉลี่ย 10 ตัวนอกจากนี้อายุการใช้งานของที่นอนก็มีผลต่อการสะสมปริมาณของไรฝุ่นที่มากขึ้นด้วย โดยที่นอนที่มีการใช้งานมากกว่า 9 ปี ในฝุ่น 1 กรัม พบไรฝุ่นเฉลี่ย 83 ตัว รองลงมาคือ 7-9 ปี พบไรฝุ่นเฉลี่ย 41ตัว ส่วน 4-6 ปี พบไรฝุ่นเฉลี่ย 26 ตัว และ 0-3 ปี พบไรฝุ่นน้อยที่สุดเฉลี่ย 8 ตัว ดังนั้นการเลือกที่นอนที่เหมาะสมและหมั่นเปลี่ยนเมื่อหมดอายุการใช้งาน ก็จะเป็นวิธีการที่สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณของไรฝุ่นได้

กลยุทธ์กำจัดไรฝุ่น

วิธีง่ายๆ ในการกำจัดไรฝุ่น คือ หมั่นนำปลอกหมอน ผ้าปูเครื่องนอนมาทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกและตากแดดทุก 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ส่วนเครื่องนอนและที่นอนซึ่งมีขนาดใหญ่ให้นำออกมาตากแดดบ่อยครั้ง เพราะตัวไรไม่ชอบความร้อน สำหรับเครื่องปรับอากาศ ควรหมั่นนำแผ่นกรองออกมาล้างทุก 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้ การดูดฝุ่นบนที่นอนและการซักเครื่องนอนเป็นประจำก็จะสามารถกำจัดตัวไรฝุ่นนี้ได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มีผลิตภัณฑ์อันเป็นผลความสำเร็จจากงานวิจัยมากมายที่สามารถใช้ในการกำจัดไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ

สเปรย์กำจัดไรฝุ่น

Mite Fear สเปรย์สมุนไพรกำจัดไรฝุ่น
ผลงานจากคณะวิจัยของ ดร.อำมร อินทร์สังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังการ ที่ได้พัฒนาสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อใช้ในการควบคุมไรฝุ่นชนิดDermatophagoides pteronyssinus ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากในประเทศไทยได้สำใร็จทีมวิจัยได้นำพืช 8 ชนิดมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ การพลูอบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว และพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 % โดยกำจัดไรฝุ่นได้93.3 ,90.0 และ 76.7 ตามลำดับ จึงนำกานพลูและอบเชยมาเป็นสารประกอบหลัก และใช้ไพลกับตะไคร้หอม
ผ้าปูกันไรฝุ่น

ผ้ากันไรฝุ่น

นอกจากการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอแล้ว การใช้วัสดุพิเศษหรือ วัสดุคลุมเครื่องนอน(encasement of beddings) เพื่อใช้ในการคลุมทับที่นอนเพื่อกั้นมิให้มูลหรือตัวไรเล็ดลอดออกจากเครื่องนอนก็ได้รับความนิยมอย่างมากปัจจุบันมีวัสดุที่นำมาใช้ผลิตผ้ากันไรฝุ่นไม่ต่ำกว่า 8ชนิด และมีกลไกในการป้องกันที่ต่างกัน เช่น ใช้หลักของโครงสร้างผ้า โดยจะต้องเป็นผ้าที่มีลักษณะของการทอแน่นจนมีขนาดรูผ้าอยู่ระหว่าง 6-10ไมโครเมตร จึงจะกั้นมูลไรและตัวไรได้ อีกทั้งยังมีประเภทผ้าเคลือบสารฆ่าไร เมื่อไรสัมผัสผ้าก็จะตายเป็นต้น สำหรับเนื้อผ้าที่นำมาใช้ อาทิ ผ้าทอแน่นผ้าเคลือบฟิล์ม พลาสติก เป็นต้น

โรงเพาะเลี้ยงไรฝุ่น

นับเป็นความก้าวหน้าอีกขึ้น ที่ขณะนี้ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตและเพาะเลี้ยงไรฝุ่นที่พบบ่อยในฝุ่นบ้าน 2 สายพันธุ์คือDermatophagoides pteronyssinus และ D. farinae ได้บริสุทธิ์ 99% มีปริมาณมากและคุณภาพสูง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นการเพาะเลี้ยงระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นสถาบันเดียวในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียที่เพาะเลี้ยงไรฝุ่นได้ โดยปัจจุบันโรงเพาะเลี้ยงไรฝุ่นมีเพียง 4แห่งของโลกเท่านั้น ได้แก่บริษัท Allergon ประเทศสวีเดน ผลิตไรฝุ่นได้คุณภาพดีที่สุดจำหน่ายกรัมละ2,000 เหรียญสหรัฐ (ราคาในปี 2552) ส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลผลิตได้คุณภาพสูงเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษทั้งนี้จากความสำเร็จในการผลิตและเพาะเลี้ยงไรฝุ่น ก็จะช่วยให้สามารถผลิตไรฝุ่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำยาสกัดไรฝุ่น ที่มีประโยชน์ในการใช้วินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ทำให้ทราบสาเหตุการแพ้ของผู้ป่วย และใช้ในการรักษาโรค รวมถึงการผลิตวัคซีนไรฝุ่นได้เองในอนาคตอีกด้วย
//////////////////////////////////////////
ที่มา:
เอกสารเผยแพร่ความรู้เรื่อง โรคภูมิแพ้และไรฝุ่น ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT)

บทความ วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น กับสถานการณ์โรคภูมิแพ้ปัจจุบัน โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาวิชาโรคจมูก
และโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความ “สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น จากงานวิจัยสู่ธุรกิจ” โดย อำมร อินทร์สังข์ และจรงศักดิ์ พุมนวน
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2009-06-23-04-00-07/203-mite-fear
http://www.si.mahidol.ac.th/Th/research-academics/rs_news_detail.asp?n_id=10
http://www.muwac.mahidol.ac.th/MU_services_One_minute_with_MURP_Dustmite.html
http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=131
เครดิตภาพ:
http://curtaincare.files.wordpress.com/2009/10/a1.jpg?w=500&h=369
http://www.siamdara.com/Picture_Girl/080616H1L8992.bmp
http://www.biotec.or.th/brt/images/stories/pic_news/rai.jpg
http://www.bscpest.com/site/images/lifecycle.jpg
http://www.littleray.net/images/raifun4.jpg
http://www.biotec.or.th/brt/index.php/2009-06-23-04-00-07/203-mite-fear
ผู้เรียบเรียง: ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
บรรณาธิการ: จุมพล เหมะคีรินทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
สนับสนุนการผลิตบทความโดย: สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
แจ้งเตือนสำหรับ
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments